หน้าเว็บ

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (อังกฤษTriam Udom Suksa School) เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 (ขณะนั้นนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ นับอย่างสากลถือเป็น พ.ศ. 2481) โดยมติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้อำนวยการท่านแรก
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งอยู่เลขที่ 227 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาณาบริเวณติดกับหลายคณะ ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารจุฬาวิชช์

ประวัติโรงเรียน

ก่อกำเนิด

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เดิมชื่อว่า "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เกิดขึ้นตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งกำหนดระเบียบการศึกษาไว้คร่าว ๆ ดังนี้

๔. การศึกษาแยกออกเป็นสองสถาน คือ
(ก) สามัญศึกษา ได้แก่ การศึกษาวิชาซึ่งเป็นพื้นความรู้ทั่ว ๆ ไป แบ่งการสอนออกเป็นชั้นประถมปีที่ ๑ - ๔ ชั้นมัธยมต้นปีที่ ๑ - ๓ และชั้นมัธยมปลายปีที่ ๔ -๖
(ข) อาชีวศึกษา ได้แก่ การศึกษาวิชาชีพซึ่งเป็นความสำหรับประกอบอาชีพ ซึ่งจะได้รับช่วงจากสามัญศึกษาทุกระยะที่สุดประโยค
๕. ผู้มีความประสงค์จะเข้าเรียนในอุดมศึกษาต้องเรียนสำเร็จชั้นเตรียมอุดมศึกษาก่อน

แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ออกมาในสมัยต้นรัชกาลที่ 8 โดยมีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี นาวาเอก หลวงศุภชลาศัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ หลวงโกวิทอภัยวงศ์และขุนสุคนธวิทย์ศึกษากรเป็นรัฐมนตรี พระตีรณสารวิศวกรรมเป็นปลัดกระทรวง หม่อมเจ้ารัชฎาภิเษก โสณกุลเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ โดยเหตุที่ลดชั้นมัธยมบริบูรณ์ลงเหลือเพียงมัธยมปีที่ 6 และจัดชั้นเตรียมอุดมศึกษาขึ้นนั้นมีกล่าวไว้ว่า "แผนการศึกษาชาติซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๕ นั้น มีระยะเวลาในการศึกษาสามัญยาวเกินสมควร นักเรียนต้องเสียเวลาเรียนในสายสามัญถึง ๑๒ ปี และยังจะต้องไปเข้าเรียนต่อในสายวิสามัญอีก ซึ่งเมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วจะเห็นได้ว่าโครงการศึกษาเก่าของเรากำหนดเวลาเรียนไว้เป็นเวลานานมาก"
แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ ประกาศออกเมื่อใกล้จะสิ้นปี และเนื่องจากดำเนินการไม่ทัน จึงได้มีการตกลงให้ทั้งปี พ.ศ. 2480 เป็นปีสำหรับเตรียมงานหนึ่งปีเต็ม ขุนสุคนธ์วิทย์ศึกษากร รัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ได้มีหนังสือเวียนลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2480 ส่งไปยังกระทรวงกลาโหม มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองและจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยมีข้อความว่า

เนื่องด้วยรัฐบาลได้ประกาศใช้แผนการศึกษาชาติฉบับลงวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ แล้ว และตามแผนการศึกษาชาตินั้น ได้กำหนดสามัญศึกษาชั้นสูงสุดไว้เพียงชั้นมัธยมปีที่ ๖ (ประโยคมัธยมปลายหรือมัธยมศึกษา) ส่วนผู้มีความประสงค์จะเข้าเรียนในอุดมศึกษา ต้องเรียนสำเร็จชั้นเตรียมอุดมศึกษาก่อน ชั้นเตรียมอุดมศึกษาได้กำหนดไว้ตามแผนผังการศึกษาชาติ ๒ ปี กระทรวงธรรมการเห็นเป็นการสมควรที่ได้เรียนชี้แจงความมุ่งหมายและการจัดชั้นมาเพื่อทราบดังต่อไปนี้
๑. กระทรวงธรรมการจะได้จัดสอนชั้นมัธยมปีที่ ๗ และ ๘ ตามหลักสูตรต่อไปอีกเฉพาะปี พ.ศ. ๒๔๘๐ และ ๒๔๘๑ ดังนั้นการรับบุคคลเข้าเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ ๘ ตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการนั้นจึงอาจรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๘ ได้เฉพาะต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๔๘๑ และ ๒๔๘๒ เท่านั้น ต่อจากนั้นไปกระทรวงธรรมการเห็นว่า การจัดชั้นเตรียมอุดมศึกษาที่จะให้เป็นไปด้วยดีและดำเนินไปสมความมุ่งหมายแห่งรัฐบาลนั้น ควรเป็นแผนกหนึ่งของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยชั้นอุดมศึกษานั้น ๆ โดยเฉพาะ กระทรวงธรรมการจึงตกลงจะไม่เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาด้วย
๒. กระทรวงธรรมการจะได้รีบดำเนินการให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐบาลโดยรวดเร็ว ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ นี้ จะได้ปรับปรุงสอนชั้นมัธยมปีที่ ๖ ให้เป็นไปตามแผนการศึกษาชาติและหลักสูตรใหม่ที่เดียวในสิ้นปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ก็จะได้มีการสอบชั้นมัธยมปีที่ ๖ (ประโยคมัธยมปลายหรือมัธยมศึกษา) ผู้สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๖ ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๐ นี้ ถ้ามีประสงค์จะเข้าเรียนในอุดมศึกษาต่อไปก็จักต้องเข้าเรียนอยู่ในชั้นเตรียมอุดมศึกษาอีก ๒ ปี จนสอบไล่ได้ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้นั้นก่อนในต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๑ มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยก็อาจจัดเปิดสอนแผนกเตรียมอุดมศึกษาตามแผนการศึกษา
อาศัยเหตุผลดั่งได้เรียนมาข้างต้นนี้ จึงเรียนมาเพื่อทราบ เพื่อท่านจะได้พิจารณาเตรียมการจัดดำเนินการศึกษาในมหาวิทยาลัยให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ได้ผลสมความมุ่งหมายของรัฐบาล ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๑
 สังกัดกรมศึกษาธิการ
ความรู้สึกเกี่ยวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาระยะนี้ก็ไม่สู้จะดีนัก ทางฝ่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่านักเรียนเตรียมอุดมศึกษาจำนวนมากนักและก็ไม่ได้เล่าเรียนเต็มเม็ดเต็มหน่วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับไว้ไม่ได้ทั้งหมด จะต้องมีการสอบคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งความวุ่นวายยุ่งเหยิงทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนทางด้านประชาชนทั่วไปนั้นก็ได้วิจารณ์ต่าง ๆ นานาเช่น
  1. ทำไมจึงให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาฯ ผูกขาดการเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโรงเรียนเดียว
  2. ขอให้โรงเรียนอื่น ๆ เปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษาด้วยเถิด ชั้นมัธยมปีที่ 8 ก็เคยสอนมาแล้ว ถ้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสอนดี นักเรียนเตรียมก็คงจะเข้ามหาวิทยาลัยได้หมดตามเดิมไม่เดือดร้อนอะไร
  3. อยากให้นักเรียนที่จบมัธยมปีที่ 6 ได้เรียนต่อเพื่อจะได้มีความรู้สูงขึ้นมากกว่าที่จะให้ได้เข้ามหาวิทยาลัย ไม่ให้เข้าก็ไม่เป็นไร
ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ทางมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงได้ร่วมกันพิจารณาที่จะเปิดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้ได้ เพราะทนปิดต่อไปไม่ไหวแล้ว กรมสามัญศึกษาจะเอื้อเฟื้อให้ยืมสถานที่ในโรงเรียนบางแห่ง สภามหาวิทยาลัยได้ประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ตกลงให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไปเปิดสอนที่โรงเรียนมัธยมวัดไตรมิตร โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาสโรงเรียนศึกษานารี โดยจัดให้สองสองผลัด นักเรียนหญิงตอนเช้านักเรียนชายตอนบ่าย แต่ยังไม่ทันดำเนินการ ทหารแจ้งว่าต้องการใช้โรงเรียนศึกษานารี จึงต้องเปลี่ยนใหม่ ได้โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามมาแทน โรงเรียนเจ้าของสถานที่เอื้อเฟื้อเป็นอย่างมากโดยจัดนักเรียนของตนไปเรียนเป็นผลัดบ่าย ณ โรงเรียนอื่นแทน
ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เชิญผู้แทนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาประชุม และชี้แจงว่าจำเป็นจะต้องอนุโลมตามเสียงของประชาชน แต่จะตั้งชั้นมัธยมปีที่ 7 - 8 ขึ้นก็ไม่ได้เพราะขัดกับแผนการศึกษา จึงจะให้ขยายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแทน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่มีอยู่ก็ให้จัดต่อไป แต่จะให้โรงเรียนรัฐบาลแห่งอื่นและโรงเรียนราษฎร์เปิดสอนได้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อโอนมาอยู่ทางกรมสามัญศึกษาได้ก็ให้โอนมา กระทรวงจะเป็นผู้จัดสอบประโยคเตรียมอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะจัดสอบคัดเลือกผู้ที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอีกชั้นหนึ่ง ในการประชุมครั้งต่อมา กำหนดให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยรับนักเรียนใหม่ในปีการศึกษา พ.ศ. 2489 จำนวน 100 คนและกำหนดจะให้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลในจังหวัดพระนคร ธนบุรี พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ สงขลาและอุบลราชธานี จังหวัดละ 2 โรงเรียน

เครือข่ายวิชาการแห่งจุฬาฯ

ปัจจุบัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีฐานะเป็นโรงเรียนเครือข่ายวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยกัน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน โดยนักเรียนของทั้ง 3 โรงเรียนนี้ จะได้รับสิทธิเข้าเรียนโครงการเรียนล่วงหน้าจุฬาฯ (CUAP Program) ในรายวิชาที่นักเรียนสนใจและถนัดเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพิเศษที่ริเริ่มขึ้นมาสำหรับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาโดยเฉพาะ ได้แก่ โครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในปีการศึกษาต่อมาได้เปิดรับนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ยังเป็นโรงเรียนแรกในประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนภาษาสเปน ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกโครงการหนึ่ง จัดการเรียนการสอนโดยคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น