หน้าเว็บ

โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

         โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย (ย่อ: ส.ส., S.S.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษประเภทสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่จำนวน 22 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา มีนักเรียนจำนวน 3,050 คน ข้าราชการครูจำนวน 129 คน

สัญลักษณ์

ตราประจำโรงเรียน

ดวงประทีป เหนืออักษรย่อชื่อโรงเรียนภายในวงกลม มีปรัชญาของโรงเรียนเป็นภาษาบาลี และคำแปลเขียนล้อมวงกลมรอบนอก และชื่อโรงเรียนในแถบโบว์ปลายพลิ้วรูปครึ่งวงกลมที่ส่วนล่างสุด

ธงประจำโรงเรียน

พื้นธงสีชมพู แถบสีละครึ่งผืน ตามความยาวของผืนธง สีชมพูอยู่บน สีเขียวอยู่ล่าง ปักด้วยไหม เป็นรูปตราโรงเรียนทางมุมซ้ายของผืนธง ตรงแถบสีชมพู

ประวัติ


ปีการศึกษา 2494 กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูอีกแห่งหนึ่ง ที่ตำบลพญาไท อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ต่อมาเนื่องจากสภาพความจำเป็นเกี่ยวกับสถานที่เรียนของนักเรียนมัธยมมีไม่เพียงพอ กระทรวงศึกษาธิการ จึงโอนโรงเรียนที่กำลังสร้างนี้ให้เป็นโรงเรียนมัธยมของ กรมวิสามัญ (ในเวลานั้น) ใช้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า“โรงเรียนรางน้ำ” แต่งตั้ง นายดัด จันทนะโพธิ  ปฏิบัติหน้าที่ครูใหญ่และได้ย้ายนักเรียนชาย  จำนวน 57 คน  ที่ฝากเรียนไว้ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส  มาเรียนที่นี่ ต่อมา ปีการศึกษา 2495 หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น ได้ตั้งชื่อโรงเรียนอย่างเป็นทางการว่าโรงเรียนศรีอยุธยา มีนายพงษ์ แสงทอง เป็นครูใหญ่คนแรก และในปีเดียวกันนั้นเองได้มีนักเรียนหญิงจำนวนหนึ่งเข้าไปเรียน แต่ไม่ได้รวมเป็นโรงเรียนเดียวกัน ฝ่ายโรงเรียนหญิงได้มอบหมายให้ น.ส.เศวต จึงเจริญ เป็นครูใหญ่
ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 กรมวิสามัญศึกษาได้ส่งนักเรียนชายซึ่งไม่มีที่เรียนและคุรุสภารับไว้ ตั้งแต่ชั้น ม.1-ม.6 เข้าไปเรียนเพิ่มเติมจนสถานที่คับแคบ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดหาซื้อที่ดินของเอกชนมรดกของพระยาเพชรปรานี จำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา เพื่อแยกโรงเรียนและเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2497 และได้ย้ายนักเรียนชายจากโรงเรียนศรีอยุธยามาเข้าเรียนเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2498 ให้ชื่อโรงเรียนอย่างเป็นทางการว่า "โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย"และแต่งตั้ง นายทิม ผลภาค เป็นครูใหญ่คนแรก เพื่อที่จะให้ครู-อาจารย์ นักเรียนเก่า ตลอดจนผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ได้ระลึกและมองเห็นความสำคัญของโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนหลายท่านมีความเห็นว่า ควรที่จะจัดงานวันที่ระลึกโรงเรียนขึ้น หากจะกำหนดเอาวันที่ 15 เมษายน (วันที่ 15 เมษายน ๒๔๙๘ เป็นวันที่โรงเรียนได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย") เป็นวันที่ระลึกของโรงเรียน ก็ไม่สะดวกในการจัดและการนัดหมายต่างๆ
ในสมัยที่ อาจารย์เจือ หมายเจริญ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ได้มีการปรึกษากันในเรื่องนี้อย่างจริงจังจากทุกฝ่าย ด้วยเหตุผลที่ถือว่านักเรียนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ จึงถือกำหนดเอาวันก่อตั้งสมาคมนักเรียนเก่าสามเสนวิทยาลัย วันที่ 28 มกราคม เป็นวันที่ระลึกของโรงเรียนและจัดงานนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2526 และจัดให้มีขึ้นสืบต่อมาทุกปีโดยตลอด เรียกวันสำคัญนี้ว่า "วันสามเสนวิทยาลัย" กิจกรรมสำคัญ ที่จัดให้มี คือ การทำบุญตักบาตรพระภิกษุ จำนวน 99 รูป ร่วมกันทั้งครู-อาจารย์ นักเรียน กรรมการสมาคมนักเรียนเก่าสามเสนวิทยาลัย สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย มูลนิธิโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และผู้ปกครองนักเรียน นอกจากนั้นยังมีพิธีมอบเครื่องหมายเกียรติคุณแก่ครู-อาจารย์ นักการภารโรง ที่ปฏิบัติงานมาเป็นเวลานาน มีผลงานดีเด่นในแต่ละปี โดยปฏิบัติงานด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของโรงเรียนอีกกิจกรรมหนึ่งด้วยทุกปี
ในปี 2505 เริ่มเปิดชั้นเรียนเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 (ม.7) ในปีนี้ โรงเรียนโด่งดังในด้านกีฬ่า โดยเฉพาะฟุตบอลอย่างมาก จนที่เป็นกล่าวขวัญของบุคคลภายนอกและมีแฟนคลับทีมฟุตบอลของโรงเรียนเรื่อยมา
ต่อมาในปีการศึกษา 2510 กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เป็นโรงเรียนแรกและโรงเรียนเดียว ซึ่งใช้หลักสูตรโครงการมัธยมศึกษาแบบประสม (คมส.) และได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนสหศึกษานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอน

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) แบ่งเป็น

    • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือ ESC (ห้อง 1)
    • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ MSEP (ห้อง 2)
    • ห้องเรียนหลักสูตรทั่วไป (ห้อง 3-6)
    • ห้องเรียน EIS (ห้อง 7-8)
    • ห้องเรียน EP (ห้อง 9-12)

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6) แบ่งเป็นห้องเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ (ห้อง1-4)

    • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือ ESC (ห้อง 5)
    • ห้องเรียนพิเศษคณิตศาสตร์เพิ่มเติมคอมพิวเตอร์ หรือ IMP (ห้อง 6)
    • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ MSEP (ห้อง 7-8)
    • ห้องเรียนพิเศษคณิตศาสตร์ หรือ EIS (ห้อง 9)
    • ห้องเรียนเน้นคณิตศาสตร์ (ห้อง10)
    • ห้องเรียนเน้นภาษาต่างประเทศที่สอง (ห้อง 11-12)
    • ห้องเรียน EP เน้นภาษา และคณิตศาสตร์ (ห้อง 13)
    • ห้องเรียน EP เน้นวิทยาศาสตร์ (ห้อง 14 และ 15)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น