โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช
โรงเรียนเบญจมราชูทิศ (อังกฤษ: Benjamarachutit School) เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสหวิทยาเขตเบญจมราชูทิศ สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 โดยพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประวัติ
เดิมโรงเรียนเบญจมราชูทิศเป็นโรงเรียนประจำมณฑลนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นได้ปรับเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสหศึกษา
ยุคท่าโพธิ์ (พ.ศ. 2441-2478)
ประมาณ พ.ศ. 2434 พระมหาม่วง รตนทฺธโช เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ กลับจากการศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ได้เริ่มจัดสอนหนังสือแบบใหม่"มูลบทบรรพกิจ" แก่ภิกษุสามเณรที่วัดท่าโพธิ์ มีสภาพเป็นโรงเรียน เรียกว่า "วิทยาลัยเชลยศักดิ์" ยังไม่ได้จัดชั้นเรียน เรียนเพื่ออ่านหนังสือออก และคิดเลขเป็น โดยใช้โรงธรรมเป็นสถานที่เรียน
พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้เวลาที่ประทับแรมอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พระมหาม่วง รัตนธโช (พระรัตนธัชมุนี) ได้เข้าเฝ้าหลายครั้ง ทรงไต่ถามถึงการพระพุทธศาสนาในจังหวัดนี้ ท่านได้ชี้แจงเป็นที่ชอบพระอัธยาศัย ทรงเห็นว่าเป็นผู้ทรงธรรมวินัยอันน่าเลื่อมใสหลายประการ และทราบว่าเป็นสหชาติ (ผู้เกิดในวัน เดือน ปีเดียว) จึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่าพระศิริธรรมมุนี
พ.ศ. 2442 พระมหาม่วง รัตนธโช (พระรัตนธัชมุนี) ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นพระราชาคณะที่พระศิริธรรมมุนี และเป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลนครศรีธรรมราช ตลอดไปจนถึงมณฑลปัตตานีด้วย ได้โอนวิทยาลัยเชลยศักดิ์เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกของปักษ์ใต้ ได้จัดตั้งคณะสงฆ์ การศึกษา และการศาสนา จึงเกิดผลสมพระราชประสงค์ ดังปรากฏในรายงานการศึกษา ร.ศ.119 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 จำนวนโรงเรียนซึ่งท่านได้ตั้งทั้งหมด 21 แห่ง โดยโรงเรียนหลวงแห่งแรกตั้งอยู่ที่วัดท่าโพธิ์ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช มอบให้อยู่ในความอุปการะของสมุหเทศาภิบาลสมัยนั้น คือ พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) โรงเรียนนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนสุขุมาภิบาลวิทยา" เปิดสอนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 มีนักเรียนประมาณ 50 คน
พ.ศ. 2447 ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเริ่มให้ความสนใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนมากขึ้น พระศิริธรรมมุนี (ม่วง รัตนธโช) จึงได้สร้างอาคารเรียนขึ้นในวัดอีกหลังหนึ่ง และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากสุขุมาภิบาลวิทยาเป็น "โรงเรียนศรีธรรมราช" เพื่อให้โรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช และเปลี่ยนการสอน คือ ใช้"หนังสือแบบเรียนเร็ว" แทนมูลบทบรรพกิจ
19 กันยายน พ.ศ. 2447 พระศิริธรรมมุนี (ม่วง รัตนธโช) ได้โอนกิจการทั้งหมดให้ธรรมการเป็นผู้ดำเนินงาน ส่วนท่านเองเป็นเพียงผู้อุปการะ โดยจัดการเรียนการสอนตามแบบของกรมศึกษาธิการ และเปิดรับนักเรียนเป็นสมาชิกลูกเสือเป็นครั้งแรก มีผู้สมัคร 6 คน
1 เมษายน พ.ศ. 2455 ธรรมการจังหวัดมีคำสั่งให้รวมกิจการแผนกประถม มัธยม และแผนกฝึกหัดครูเข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชั้นฝึกหัดครูเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจึงย้ายแผนกประถมไปเรียน ณ วัดท่ามอญหรือวัดศรีทวีในปัจจุบัน ส่วนแผนกฝึกหัดครู ซึ่งเรียกในสมัยนั้นว่า โรงเรียนฝึกหัดครูมณฑล และโรงเรียนมีแผนกช่างถมด้วย จึงเป็นเหตุให้สถานที่เรียนไม่พอ ทางโรงเรียนแก้ปัญหาโดยให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปเรียนที่วัดศรีทวี และวัดจันทาราม
3 ธันวาคม พ.ศ. 2459 ได้เปิดเรียนที่อาคารเรียนหลังใหม่ที่สร้างโดยพระศิริธรรมมุนี (ม่วง รัตนธโช) ซึ่งได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมโกษาจารย์ (ม่วง รัตนธโช) ได้สร้างตึกชั้นเดียวบริเวณนอกกำแพงวัดท่าโพธิ์ทางด้านทิศใต้
12 ตุลาคม พ.ศ. 2460 โรงเรียนได้เปลี่ยนนามเป็น "โรงเรียนเบญจมราชูทิศ" อันเป็นมงคลนามที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันมีความหมายว่า "อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 5" เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และอุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงวางรากฐานการศึกษาไว้
พ.ศ. 2468 แผนกฝึกหัดครูถูกยกเลิกไป พ.ศ. 2473 มีหนังสือราชการเรื่องการแยกโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชออกเป็น 3 โรงเรียน คือ
- "แผนกชาย" เป็น "โรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช" ปัจจุบัน คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ
- "แผนกสตรี" เป็น "โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช" ปัจจุบัน คือ โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช
- "แผนกช่างถม" เป็น "โรงเรียนประถมวิสามัญประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช" ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช
10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 พระสารสาสน์ประพันธ์ รัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ และหลวงสำเร็จวรรณกิจ ได้มาตรวจเยี่ยมโรงเรียน ได้เล็งเห็นถึงสถานที่เรียนไม่เพียงพอ พ.ศ. 2478 ทางราชการได้เริ่มสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เป็นอาคารไม้สองชั้น ในบริเวณสนามหน้าเมือง ในเขตวัดพระสูง บนเนื้อที่ 8 ไร่
เบญจองค์กร
- คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนเบญจมราชูทิศ
- สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช
- สมาคมผู้ปกครอง และครูโรงเรียนเบญจมราชูทิศ
- เครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ
- ชมรมครูเก่าโรงเรียนเบญจมราชูทิศ
สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน
- มงกุฎ หมายถึง สิ่งสูงสุด มงคลสูงสุดสัญลักษณ์ของโรงเรียน : มีหมายเลข ๕ อยู่ภายใต้มงกุฎ หรือมงกุฎ ๕
- เลข ๕ หมายถึง โรงเรียนตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
- สีประจำโรงเรียน : ขาว - แดง
- คติพจน์ : "ขนฺติ หิต สุขาวหา" ความอดทนนำมาซึ่งความผาสุก
- ปรัชญา : การเรียนดี ฝีมือเก่ง กีฬาเยี่ยม มารยาทยอด
- เพลง : เพลงมาร์ชขาว-แดง
- ต้นไม้ : ต้นประดู่แดง หมายถึง สัญลักษณ์ของความพร้อมเพรียง
สถานที่
หอพระสูง เป็นที่ประดิษฐานของพระสูง (จำลอง) จากบริเวณสนามหน้าเมือง เขตวัดพระสูง ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนในยุคสนามหน้าเมือง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นลานพระราชพิธีสักการะอนุสาวรีย์
สนามฟุตบอล ตั้งอยู่ด้านหน้าโรงเรียนสามารถมองเห็นได้บนถนน โรงเรียนมีแผนพัฒนาทำระบบลู่วิ่งเหมือนกับสนามกีฬา
สวน 100 ปีเบญจม เป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของนักเรียน บริการเรือพาย อยู่บริเวณหลังอาคาร 7
นอกจากนี้ภายในบริเวณของโรงเรียนยังมีสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ บ้านพักครู การประปา สวนต่างๆ ลาน สนามเทนนิสและสนามกอล์ฟขนาดเล็ก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น