หน้าเว็บ

โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง

โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง

โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย (ภาษาอังกฤษ: Bunyawat Witthayalai School) เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของจังหวัดลำปาง ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ รศ.117 (พ.ศ. 2441 ) ณ วัดพระแก้วดอนเต้า ต่อมาราว รศ. 118 ( พ.ศ. 2442 ) ได้ย้ายไปอยู่ที่วัดสุชาดา แล้วย้ายไปอยู่ที่วัดแสงเมืองมา ในราว รศ. 119 ( พ.ศ. 2443 )
ภายหลังเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางสมัยนั้นได้ย้ายโรงเรียนจากวัดแสงเมืองมามาอยู่ที่หน้าคุ้มหลวงของท่าน นักเรียนเพิ่มมากขึ้น สถานที่เรียนไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน เจ้าบุญวาทย์ฯจึงได้ซื้อที่ดินบริเวณห้างกิมเซ่งหลี[1] (ปัจจุบันคือโรงแรมอรุณศักดิ์) ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำล้อม อำเภอเมืองลำปาง แล้วย้ายโรงเรียนจากหน้าคุ้มมาตั้ง ณ ที่ดินแห่งนี้
ครั้นถึง รศ.124 (พ.ศ. 2448) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จต่างพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ ประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้เสด็จมาทรงเปิดโรงเรียน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 พระราชทานนามโรงเรียนว่า "บุญวาทย์วิทยาลัย" ตามราชทินนามของเจ้าบุญวาทย์ฯ ผู้ครองนครเพื่อเป็นเกียรติยศแด่ท่าน
ปรากฏหลักฐานในพระราชนิพนธ์ "ลิลิตพายัพ" ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงใช้พระนามแฝง "หนานแก้วเมืองบูรพ์" ว่า

วันที่ซาวหกนั้น      เสด็จไป
ทรงเปิดโรงเรียนไทย       ฤกษ์เช้า
บุญวาทย์วิทยาลัย           ขนานชื่อ ประทานนอ
เป็นเกรียรติยศแด่เจ้า       ปกแคว้นลำปาง
โรงเรียนบุญวาทย์จึงถือเอาวันที่ 26 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันสถาปนาโรงเรียน
หลังจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยได้ย้ายออกมาจากหน้าคุ้ม เจ้าพ่อบุญวาทย์ได้ตั้งโรงเรียนใหม่ขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง ตรงที่หอพระบริเวณสวนดอกไม้ในคุ้มหลวงเพื่อให้บุตรหลานของเจ้าพ่อได้เรียน แล้วขยายรับเด็กที่อยู่บริเวณใกล้ๆด้วย โรงเรียนนี้ยังไม่มีชื่อ แต่คนนิยมเรียนว่าโรงเรียนเจ้าชื่น ต่อมาย้ายโรงเรียนมาอยู่ตรงหน้าคุ้ม และได้ชื่อว่า "โรงเรียนบุญทวงศ์อนุกูล" ตามชื่อเดิมของเจ้าพ่อบุญวาทย์ แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าโรงเรียนหน้าคุ้ม ภายหลังโรงเรียนแห่งนี้ได้ย้ายมาเรียนรวมกับโรงเรียนบุญวาทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2472
ปี พ.ศ. 2474 สถานที่เรียน (บริเวณห้างกิมเซ่งหลี) คับแคบเกินกว่าจะรองรับนักเรียนที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น จึงย้ายโรงเรียนมาตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง (คือสถานที่ตั้งของโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ในปัจจุบัน) ในเนื้อที่ 40 ไร่ 1 งาน 4 ตารางวา
ต่อมาโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยได้ขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้นและก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมมาตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของการศึกษาและจำนวนนักเรียนในโรงเรียน ในเนื้อที่ที่ขยายออกไปเป็น 44 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา และปัจจุบันโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยเป็นหนึ่งใน 500 โรงเรียนที่อยู่ในโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล World Class Standard School


สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

  • เครื่องหมายประจำโรงเรียน เป็นอักษรย่อ บ.ว. ในกรอบลายกนก ข้างล่างมีคติพจน์ประจำโรงเรียนว่า "สมฺมา วายเมเถว ปุริโส" แปลว่า "เป็นคนพึงทำดีร่ำไป"
  • สีประจำโรงเรียน คือ สีแดง - ขาว สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ และ สีขาว หมายถึง ความถูกต้อง ความบริสุทธิ์ ความหมายรวม คือ ความกล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรม
  • ปรัชญาโรงเรียน คือ วิชาการเป็นเลิศ เทิดสถาบัน ยึดมั่นคุณธรรม
  • คำขวัญโรงเรียน คือ เรียนดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
  • ต้นไม้ประจำโรงเรียน คือ ต้นธรรมบูชา (ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ หรือ ต้นตาเบบูย่า)
    • ต้นไม้พระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จยังโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ (พระยศในขณะนั้น) ทรงปลูกต้นธรรมบูชาพระราชทานและประทานแก่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย 2 ต้น เป็นที่ปลาบปลื้มปิติแก่ลูกเจ้าพ่อทุกคน ดังที่อาจารย์เพียงใจ ประสาทพร ได้ประพันธ์บทร้อยกรองไว้ ซึ่งปัจจุบันทางโรงเรียนได้นำมาติดบริเวณต้นธรรมบูชาพระราชทานนั้นว่า

คือธรรมบูชา คือธรรมาคุณากร คือรุกขาลดาวร คือพฤกษพรรณพระราชทาน คือวรหัตถ์ทรงปลูกไว้ คือน้ำพระทัยวิเศษวิศาล คือสยามมกุฎราชกุมาร คือพระวรชายา


    • ต้นไม้แห่งความทรงจำ ต้นธรรมบูชานั้นออกดอกทุกๆช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เพราะฉะนั้นในช่วงที่นักเรียนกำลังจบการศึกษา บริเวณหลังเสาธงก็จะเนืองแน่นไปด้วยดอกไม้สีชมพูละลานตา เป็นที่จดจำของเหล่านักเรียนมาโดยตลอด โดยเฉพาะนักเรียนระดับชั้นม. 6 ที่กำลังจะจบการศึกษาเข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้น ธรรมบูชากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความอาลัยอาวรณ์ในสถานศึกษา นักเรียนชั้นม. 6 ทุกรุ่น ต้องถ่ายรูปคู่กับต้นธรรมบูชา 2 ต้นนี้เป็นที่ระลึกเสมอมา (น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันต้นธรรมบูชาทั้ง 2 ต้นนั้นได้ถูกโค่นลงเสียแล้ว ฉะนั้นนักเรียนระดับชั้นม. 6 ปีการศึกษา 2551 จึงเป็นนักเรียนรุ่นแรกที่ไม่ได้จบการศึกษาพร้อมกับสีชมพูของต้นไม้ประจำโรงเรียน)

    การแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการระหว่างประเทศ

    การแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการระหว่างประเทศ เป็นการแข่งขันความสามารถพิเศษในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ของเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี จากทั่วโลก ประเทศไทยได้ส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์เพียงวิชาเดียวและได้เพิ่มวิชาอื่นๆ ในปีต่อมาจนครบ 5 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาและสาขาคอมพิวเตอร์
    นักเรียนโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นนักเรียนตัวแทนเข้าแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 2 คน โดยเป็นสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ 1 คน สาขา และสาขาวิชาชีววิทยา 1 คน ดังนี้
    • นายวรัตม์ ยิ่งเสรี ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ณ. ประเทศตุรกี ผลการแข่งขันได้เหรียญทองแดงคอมพิวเตอร์โอลิมปิก พ.ศ. 2542
    • นายอดิศร ไชยบาง ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิก ณ. ประเทศลัตเวีย ผลการแข่งขันได้เหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิก (ขณะนั้นศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5) พ.ศ. 2545
    • นายอดิศร ไชยบาง ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิก ณ. ประเทศเบลารุส ผลการแข่งขันได้เหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิก พ.ศ. 2546

    อาคาร / สถานที่สำคัญในโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย

    • อนุสาวรีย์เจ้าพ่อบุญวาทย์ ผู้ประทานก่อตั้งโรงเรียน ได้มีการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงพระกรุณาเป็นประธานเททองหล่อ ศ.นพ.บุญสม มาร์ติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ฐานอนุสาวรีย์และอัญเชิญอนุสาวรีย์ ขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 กระทำพิธีการเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521
    • ศาลาพระพุทธ ประดิษฐานพระพุทธเกษมมิ่งมงคล พระพุทธปฏิมาประจำโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โดยครูบาเจ้าเกษม เขมโกกรุณามอบให้แก่โรงเรียน สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เป็นรูปแบบวิหารเปลือยแบบล้านนา จำลองแบบจากพระวิหารเจ้าแม่จามเทวี วัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
    • ศาลเจ้าพ่อกว้าน เจ้าคู่บ้านคู่เมืองลำปาง ประดิษฐานบริเวณประตูทางเข้าโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย
      • เจ้ากว้าน เจ้าพ่อศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ความสำคัญของเจ้ากว้านคงพอๆ กับเจ้าพ่อหลักเมือง ทั้งนี้สันนิษฐานจากการเซ่นสังเวยทุกครั้งที่มีการสังเวยเจ้าพ่อหลักเมือง จะต้องแบ่งครึ่งหนึ่งของเซ่นไปสังเวยเจ้าพ่อกว้านอยู่เสมอ เมื่อเกิดศึกสงครามทหารจะออกรบ หรือเมื่อตำรวจตามจับผู้ร้ายสำคัญ จะต้องไปบวงสรวงเจ้ากว้านเสียก่อน ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อนั้น เป็นที่นับถือตั้งแต่เจ้าผู้ครองนครมาจนถึงราษฏรสามัญ ทุกๆปีจะมีการบวงสรวงเซ่นไหว้ประจำปีในเดือน ๙ เหนือ แรม ๕ค่ำ ไม่มีการเชิญเข้าทรงและฟ้อนฝี ดังเช่นปัจจุบัน
    • อาคาร 1 - คุณากร เป็นอาคารอำนวยการของโรงเรียน
      • ชั้น 1 ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบริหาร ฝ่ายธุรการ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายแนะแนว ฝ่ายบัญชี
      • ชั้น 2 ห้องเรียนวิชาธุรกิจ ห้องแผนงาน-สารสนเทศ ห้องศูนย์ควบคุมระบบอินเทอร์เน็ต
    • อาคาร 2 - บวรวิทย์ เป็นอาคารวิทยาศาสตร์
      • ชั้น 1 ห้องพักครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนวิชาชีววิทยา ห้องเรียนวิชาเคมี ห้องเรียนนักเรียนโครงการวิทยาศาสตร์ (Smart Science) ห้องประชุมเหมันต์อนุสรณ์
      • ชั้น 2 ห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมต้น ห้องเรียนวิชาฟิสิกส์ ห้องเรียนวิชาโลก ดาราศาสตร์และอวกาศ
      • ชั้น 3 ห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมต้น ห้องเรียนวิชาฟิสิกส์ ห้องเรียนวิชาชีวเคมี (Biochem หรือ BC)
    • อาคาร 3 - พิสิฐเมธี เป็นอาคารเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1
      • ชั้น 1 ห้องพักครูกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ห้องศูนย์สังคมศึกษาฯ ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม. 3
      • ชั้น 2 ห้องอาเซียน ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม. 1
      • ชั้น 3 ห้องเศรษฐกิจพอเพียง ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม. 1
      • ชั้น 4 ห้องจริยธรรม ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม.1
    • อาคารกีรติคุณ เป็นอาคารดนตรีและนาฏศิลป์
      • ชั้น 1 ห้องเรียนวิชาดนตรี ห้องเรียนวิชานาฏศิลป์ ห้องพักครูวิชาดนตรี นาฏศิลป์
    • อาคารวิบุลพล 1 เป็นอาคารสนามวอลเล่ย์บอล
    • อาคารวิบุลพล 2 เป็นอาคารวิชาศิลปะและห้องพักครูวิชาศิลปะ
    • อาคารกุศลเกษม เป็นอาคารวิชาคหกรรมและห้องพักครู
    • อาคารเปรมประชา (เก่า) เดิมเป็นอาคารที่อยู่เคียงข้างกันกับอาคารกุศลเกษม ปัจจุบันได้ทุบทิ้งไปแล้ว
    • อาคารสิวาลัย เป็นอาคารเรียนวิชาเกษตร และห้องพักครู
    • อาคาร 6 - ไวทยพิชญ์ เป็นอาคารเรียนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3
      • ชั้น 1 ห้องประชุมเกษมชัย ห้องประชุมเกษมโชค ห้องพัสดุ ห้องโรเนียว ห้องงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
      • ชั้น 2 ห้องพักครูกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ ห้องศูนย์คณิตศาสตร์ ห้องเรียนนักเรียนโครงการคณิตศาสตร์ (Gifted Math)
      • ชั้น 3 ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม. 3 ห้องศูนย์คณิตศาสตร์
      • ชั้น 4 ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม. 3
    • อาคาร 7 - จิตรภัสสร์ เป็นอาคารเรียนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 , 3
      • ชั้น 1 ห้องประชุมเสือป่า
      • ชั้น 2 ห้องพักครูกลุ่มสาระภาษาไทย ห้องศูนย์ภาษาไทย ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม. 3
      • ชั้น 3 ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม. 2
      • ชั้น 4 ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม. 2
    • อาคารสมรรถเกียรติ เป็นอาคารโรงอาหารและหอประชุม
      • ชั้น 1 โรงอาหาร
      • ชั้น 2 หอประชุมสมรรถเกียรติ
    • อาคาร 8 - สมานฉันท์รังสฤษฎ์ เป็นอาคารเรียนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
      • ชั้น 1 ห้องพักครูกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ข และห้องพยาบาล
      • ชั้น 2 ห้องพักครูกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ก ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม. 4 ห้องศูนย์ภาษาอังกฤษ และ English Corner
      • ชั้น 3 ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม. 4 ห้องเรียนนักเรียนโครงการภาษาอังกฤษ (English Program)
      • ชั้น 4 ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นม. 4 ห้องเรียนนักเรียนโครงการภาษาอังกฤษ (English Program) ห้องศูนย์ภาษาจีน
    • อาคาร 9 - มานิตธำรง เป็นอาคารเรียนแบบพิเศษ 4 ชั้น รูปตัวแอล (L)
      • ชั้น 1 ห้องพักครูกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานช่างอุตสาหกรรม) และใต้ถุนโล่ง
      • ชั้น 2 ห้องพักครูกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี (งานห้องสมุด) ห้องเรียนทั่วไป และห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก
      • ชั้น 3 ห้องเรียนทั่วไป
      • ชั้น 4 ห้องพักครูกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี (คอมพิวเตอร์ ห้องเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ และห้องเรียนทั่วไป
    • อาคารบุญชู ตรีทอง เป็นอาคารหอประชุม สร้างขึ้นโดยได้รับเงินบริจาคจากนายบุญชู ตรีทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่าโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย
      • ชั้น 1 สมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ห้องดนตรีสากล ห้องเรียนลีลาศ
      • ชั้น 2 ห้องประชุมใหญ่สิรินตรีทอง
    • อาคารศูนย์กีฬา - เปรมประชา เป็นอาคารเรียนวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น