หน้าเว็บ

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (อักษรย่อ : ส.ก., S.K.) เป็นโรงเรียนชายล้วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2425 ปัจจุบันมีอายุ 134 ปี ตั้งอยู่เลขที่ 88 ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ประกอบด้วยอาคารเรียน 7 หลัง ห้องเรียนทั้งหมด 78 ห้อง
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นหนึ่งในกลุ่มโรงเรียนจตุรมิตรสามัคคี ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมของทั้ง 4 โรงเรียน โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพในทุกๆ 2 ปี นอกจากการแข่งขันฟุตบอล ยังมีการแปรอักษรของทั้ง 4 โรงเรียน ซึ่งเป็นอีกสัญลักษณ์สำคัญของงาน โดยกีฬาจตุรมิตรสามัคคีจะจัดขึ้นในทุกๆ 2 ปี ที่สนามศุภชลาศัย
นอกจากนี้ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ยังมีกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์ และงานชุมนุมลูกเสือ - เนตรนารี สวนกุหลาบสัมพันธ์ ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นประจำทุกปี โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

  • คติพจน์ : "สุวิชาโน ภวํ โหติ" อ่านว่า "สุ-วิ-ชา โน พะ-วัง โห-ติ" แปลว่า "ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ"
  • คติประจำใจ : "เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง" คือสุภาพบุรุษสวนกุหลาบวิทยาลัย
  • สีประจำโรงเรียน : "ชมพู - ฟ้า"
  • ตราประจำโรงเรียน : ตราประจำโรงเรียนเป็นรูปหนังสือมีไม้บรรทัดดินสอปากกาคั่นอยู่ หน้าปกหนังสือมีพระเกี้ยวยอดหรือจุลมงกุฏ และอักษรย่อ จ.ป.ร. ด้านขวามีช่อดอกกุหลาบ มุมซ้ายล่างมีริบบิ้นผูกช่อดอกกุหลาบ ซึ่งมีตัวหนังสือกำกับว่า "โรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ" ด้านบนปรากฏมีปรัชญาและคติพจน์ "สุวิชาโน ภวํ โหติ" ด้านล่างมีคำแปลว่า "ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ"
ดอกไม้ประจำโรงเรียน : ดอกกุหลาบพันธุ์จุฬาลงกรณ์

ประวัติโรงเรียน

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2325 เมื่อแรกสร้างพระบรมมหาราชวังในสมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณวังข้าง ด้านใต้หมดเพียงป้อมอนันตคิรี กำแพงพระราชวังหักตรงไปทางตะวันตกจนถึงป้อมสัตบรรพตในระหว่าง กำแพงพระบรมมหาราชวังกับวัดพระเชตุพนมีบ้านเสนาบดีและวังเจ้า คั่นอยู่หลายบริเวณ
ครั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ 2 จึงมีการขยายเขตพระราชวังออกไป ในพระราชวังด้านใต้มีที่ว่าง โปรดฯให้ทำสวนปลูกต้นกุหลาบ สำหรับเก็บดอกใช้ในราชการจึงเกิดมีสวนกุหลาบขึ้นในพระราชวัง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา และในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดฯให้แบ่งสวนกุหลาบส่วนหนึ่งสร้างพระคลังศุภรัตน ทำเป็นตึกรูปเก๋งจีน แต่พื้นที่นอกจากสร้างคลังศุภรัตน ยังคงเป็นสวนกุหลาบต่อมาอย่างเดิม
ต่อมาในรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเจริญพระชันษาถึงเวลาจะเสด็จมาประทับอยู่พระราชวังชั้นนอก แต่พระบรมพระชนกนาถมีพระประสงค์ที่จะให้เสด็จประทับอยู่ในที่ใกล้พระองค์ จึงโปรดฯให้จัดตำหนักพระราชทานเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ในสวนกุหลาบ บริเวณอาคารพระคลังศุภรัตน ซึ่งสร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้เรียกพระตำหนักนี้ว่า พระตำหนักสวนกุหลาบ และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็โปรดฯให้กรมหลวงอดิศรอุดมเดช เสด็จไปประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบแทน จนออกจากวัง และจากนั้นมาก็ใช้เป็นคลังเก็บของเรื่อยไป

    บทบาททางวิชาการ สังคม และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม



    • ริเริ่มโครงการฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์
    • โรงเรียนมีความโดดเด่น ในด้าน ความรักความสมานสามัคคีกลมเกลียวระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง ความรักกตัญญูกตเวที ทั้งระหว่าง พ่อ-แม่ ระหว่างอาจารย์-ลูกศิษย์ มีความเป็นผู้นำ ดังคติประจำใจที่ว่า "เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อ-แม่ ดูแลน้อง"
    • โรงเรียนมีความโดดเด่นด้านกิจกรรมมากมาย โดยจัดขึ้นในกลุ่ม ของนักเรียน (ตัวอย่าง ภายใน รร. คือ งานสมานมิตร และงานมุทิตาจิต ภายนอกโรงเรียน ได้แก่ สวนจาม สวนโดม สวนศรีตรัง เป็นต้น) ชึ่งในโรงเรียนก็ได้จัดกิจกรรมชุมนุมขึ้นของนักเรียนที่เปิดทำการทั้งหมดทั้งที่มีในคำสั่งโรงเรียนและไม่มีในคำสั่งโรงเรียน(ปีการศึกษา 2551) จำนวนทั้งหมดเฉลี่ย 30-50 ชุมนุมในแต่ละปีการศึกษา

    บทบาททางการเมืองและการก้าวสู่ปัจจุบัน

    พ.ศ. 2475 มี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นที่ไม่คาดคิดว่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนหลวงแห่งแรกของประเทศไทย จะมีหน้าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในสมัยนั้นด้วย เมื่อ วันศุกร์ ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎร ได้จับตัวพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นตัวประกัน รวมทั้ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ด้วย บรรยากาศขณะนั้นตึงเครียดมีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก บรรยากาศด้านการเมืองรุนแรงน่าหวาดกลัวแม้กระทั่งในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
    ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น มีรถถังแล่นมาจอดขวางประตูโรงเรียน มีนายทหารและพลเรือนของคณะราษฎร นำโดย นายสงวน ตุลารักษ์ ได้เข้ามาในโรงเรียน เชิญอาจารย์ใหญ่ ซึ่งขณะนั้นคือ อาจารย์เอซี เชอร์ชิล และนักเรียน ม.6-ม.8 เข้าหอประชุมสามัคคยาจารย์สมาคม ประกาศทุกคนได้รับทราบว่า ขณะนี้ได้มีการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ
    นักเรียนสวนกุหลาบได้ลุกขึ้นถามว่า "ทำไมต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง" นายสงวน ตอบว่า "ไม่ต้องถามเวลานี้ ถ้าต้องการรายละเอียดต้องตอบด้วยปืน ขณะนี้ได้จับเจ้านายไปแล้ว"
    บรรยากาศตอนนี้มีความสับสน นักเรียนที่ไม่เข้าใจเหตุการณ์ บ้างก็หลบอยู่ตามห้องเรียน บ้างก็กระโดดหนีออกจากโรงเรียนไป ที่เข้าประชุมก็ไม่ค่อยเข้าใจแจ่มชัดนัก แต่การกระทำครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะควบคุมความสงบสุขของ ครูและนักเรียนในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนใหญ่ และในขณะนั้นถือว่าใกล้ชิดกับราชวงศ์และข้าราชการชั้นสูงของกระทรวงธรรมการนั่นเอง
    จากเหตุการณ์ตอนนี้พอสันนิษฐานว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่มีบทบาทสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งคณะราษฎร์จำเป็นจะต้องควบคุมสถานการณ์ไว้ เพราะเป็นต้นแบบในด้านต่างๆของโรงเรียนทั่วไป ครูอาจารย์ และ นักเรียน ก็น่าจะเป็นพลังที่จะต่อต้านคณะปฏิวัติ ซึ่งก่อให้เกิดความระส่ำระสาย ยากที่คณะราษฎร์จะดูแลได้ จึงได้ใช้วิธีนำรถถังมาปิดโรงเรียนและควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว
    นอกจากนี้ กิจกรรมอีกประการหนึ่งที่เป็นผลสะท้อนให้เห็นว่า โรงเรียนสวนกุหลาบมีบทบาททางการเมืองการปกครอง สมัยนั้นคือ การที่ลูกเสือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มีส่วนช่วยรัฐบาลในการปราบกบฏบวรเดช ในกรณีของการปราบกบฏบวรเดชนี้ รัฐบาลขณะนั้นได้ขอความร่วมมือจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ให้ส่งอาสาสมัครที่เป็นลูกเสือไปช่วยเป็นกองกำลัง ด้านลำเลียงกระสุนปืนส่งเสบียงบริเวณบางซื่อบ้าง และหลักสี่ทำหน้าที่เฝ้าคุกเพื่อไม่ให้มีการจลาจลบ้าง โดยแต่งกายชุดลูกเสือไปช่วยเป็นพลรบ การสู้รบครั้งนี้มีลูกเสือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ช่วย เป็นกองกำลังสนับสนุนจนฝ่ายรัฐบาลได้รับชัยชนะ ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มอบโล่เกียรติยศ จากการปราบกบฏครั้งนี้ ให้กับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (อยู่ในห้องนิทรรศการ จาริกานุสรณ์) และนักเรียนรุ่นนั้นทุกคนได้รับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาด้วย
    เมื่อในปี พ.ศ. 2541 เหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอีกเป็นหนที่สอง เมื่อนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กว่า 2,000 คน ได้เดินทางไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสอบถามข้อข้องใจ ในเรื่องสาเหตุของการสั่งย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนในสมัยนั้น (ผอ.ธานี สมบูรณ์บูรณะ) จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปรากฏไปตามสื่อต่าง ๆ ทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น