หน้าเว็บ

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

      โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 และเปลี่ยนสถานภาพเป็นองค์การมหาชนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2543[1] เคยตั้งอยู่ที่วัดไร่ขิง ในปัจจุบันตั้งอยู่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และเป็นโรงเรียนที่มีเครือข่ายกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำในประเทศอื่น ๆ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีการใช้ระบบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนเอง โดยปรกติมีอัตราการรับเข้าประมาณ 1.5% (240 คนจากนักเรียนที่สมัครแต่ละปีประมาณ 20,000 คน) โดยนักเรียนทุกคนได้รับทุนการศึกษาเต็มตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่ในโรงเรียน

ประวัติ


แนวคิดริเริ่ม


มหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากความขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีความคิดที่จะผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญในทางสาขาวิชานี้ เพื่อป้อนให้กับประเทศ ทั้งนี้บุคลากรเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับพื้นฐานที่ดีก่อนที่จะมาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ในการนี้ทางมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความถนัดทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อันเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญดีอยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกับกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนทางด้านวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ เพื่อสร้างนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษา และศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ในสายวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ รูปแบบดังกล่าวนี้ หากขยายนำไปใช้ได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ก็จะผลิตกำลังคนได้สอดคล้อง กับความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชื่อและสัญลักษณ์ของโรงเรียน

ความหมายของชื่อโรงเรียน

มหิดลวิทยานุสรณ์ (อ่านว่า มะ-หิ-ดน-วิด-ทะ-ยา-นุ-สอน) สามารถแยกได้เป็น มหิดล วิทยา และอนุสรณ์ ซึ่งมีความหมายดังนี้
มหิดล เป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย
วิทยา แปลว่า ความรู้ความสามารถ
และอนุสรณ์ แปลว่า ความรำลึกถึง
ดังนั้น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ แปลได้ว่า โรงเรียนที่กอปรด้วยวิทยาการความรู้ทั้งมวลดำรงอยู่ด้วยความรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระมหิดลธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของโรงเรียน



  • ตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรตอนบนว่า "ปญญาย ปริสุชฌติ คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา" ตรงกลางวงกลมประกอบด้วยอักษร "ม" สัญลักษณ์ประจำราชสกุลมหิดล อยู่ภายใต้จักรตรี และพระมหาพิชัยมงกุฏและด้านล่างภายใต้วงกลมมีข้อความว่า "โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์" ตัวอักษร ม หมายถึง พระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยทางโรงเรียนได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน[1]
  • หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระพุทธรูปประจำโรงเรียน ปัจจุบันประดิษฐานที่หอพระ บริเวณประตูหน้าของโรงเรียน
  • มาร์ชมหิดลวิทยานุสรณ์ เพลงประจำโรงเรียน แต่งขึ้นตั้งแต่ในสมัยก่อนโรงเรียนเปลี่ยนเป็นองค์การมหาชน
  • ███ สีน้ำเงิน - ███ สีเหลือง สีประจำโรงเรียน โดยสีน้ำเงินแทนพระมหากษัตริย์ และสีเหลืองแทนนักวิทยาศาสตร์
ต้นศรีตรัง (Jacaranda filicifolia (Anderson) D.Don) ต้นไม้ประจำโรงเรียน โดยนำมาจากต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ในสมัยก่อตั้งโรงเรียน

หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

โรงเรียนพัฒนาหลักสูตรขึ้นใช้เป็นการเฉพาะกับนักเรียนของโรงเรียน มีการปรับปรุงหลักสูตรทุก 3 ปี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ จากสถาบันอุดมศึกษาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาหลักสูตร โดยมุ่งเน้นการพัฒนานักเรียนรอบด้าน ทั้งพุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา รายวิชาพื้นฐานครอบคลุมหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ยังจัดสาระการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมให้หลากหลาย สอดคล้องกับศักยภาพ ความถนัดและความสนใจของนักเรียนเป็นรายบุคคล มีการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน เพื่อมุ่งสร้างความเป็นพหุปัญญา สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ที่กว้างไกลของนักเรียน และ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งความรู้ ความคิด ความดีงาม และความรับผิดชอบต่อสังคม
ปัจจุบันโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ใช้หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2552 ซึ่งเป็นการปรับปรุงหลักสูตรครั้งที่ 3 โดยปรับปรุงหลักสูตรให้มีความใกล้เคียงเนื้อหาของ สอวน. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้เพิ่มรายวิชาทักษะชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในหอพักและทำให้นักเรียนเติบโตเป็นบุคลากรที่มีความสามารถและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข และเพิ่มรายวิชาสัมมนาวิทยาศาสตร์ รายวิชาธรรมชาติและการสืบเสาะอย่างวิทยาศาสตร์ (Nature of Science and Scientific Inquiry)[9]และรายวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนากระบวนการคิด และกระบวนการสืบเสาะค้นหาองค์ความรู้ หาคำตอบของข้อสงสัย ของปัญหาที่อยากรู้ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Methods) เช่นเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักประดิษฐ์คิดค้นใช้ในกระบวนการทำงานของตนเอง รวมถึงการพัฒนาทักษะในการทำวิจัย (โครงงาน) อย่างครบวงจร และปลูกฝังจิตวิญญาณและความรู้ความสามารถในการเป็นนักคิดค้น นักวิจัยในภายภาคหน้า โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น Dr. David Workman จาก Illinois Mathematics and Science Academy หลักสูตรนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะทางภาษาต่างประเทศ คือภาษาอังกฤษ โดยมีการสอนแบบแบ่งกลุ่มนักเรียนตามคะแนนสอบและจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความสามารถ รวมถึงเปิดการสอนภาษาอื่นๆอีกอย่างน้อย 4 ภาษา คือ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน โดยในบางครั้งหากมีบุคลากรที่เหมาะสมจะเปิดการเรียนการสอนภาษาอื่น ๆ ด้วย เช่น ในอดีตเคยมีการเปิดสอนภาษาเกาหลี และภาษารัสเซีย การสอนภาษาต่างประเทศนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเป็นสากลให้เกิดขึ้นในบุคลากรของชาติในอนาคตและเพื่อยกระดับความเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ให้ทัดเทียมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก (World Class)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น